หน้าแรก > ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด > หน้ากาก PAPR (Powered Air Purifying Respirator)
หน้ากาก PAPR (Powered Air Purifying Respirator) 17 ธันวาคม 2563

ทำไม “หน้ากากความดันบวก” จึงสำคัญกับการป้องกันโควิด-19 ในแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์

เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 แพร่จากคนสู่คนทางละอองฝอยของสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจและการสัมผัสเชื้อไวรัส การสวมหน้ากากอนามัย (Surgical mask) จึงช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากการไอหรือจาม และสามารถควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้อยู่ในวงจำกัดได้ในระดับหนึ่ง แต่กรณีของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ในขณะทำการตรวจหรือทำหัตถการผู้ป่วยโควิด-19 จะมีความเสี่ยงสูงมากที่แพทย์ อาจจะติดเชื้อต่อจากผู้ป่วยได้ การสวมชุด PPE (Personal Protective Equipment) อาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องสวมหน้ากาก PAPR (Powered Air Purifying Respirator) ร่วมด้วย

PAPR จะมีลักษณะเป็น หน้ากาก หรือหมวก หรือชุดคลุมศีรษะ ที่สามารถคลุมทั้งใบหน้าของผู้ใช้งาน โดยมีอากาศที่ผ่านตัวกรองแล้วส่งมาที่ชุดคลุมศีรษะ โดยภายในชุดคลุมศีรษะจะมีแรงดันอากาศมากกว่าภายนอก (Positive Pressure) จึงทำให้พวกเชื้อโรค เชื้อไวรัสต่างๆ เข้ามาภายในชุดไม่ได้ เพราะมีแรงอัดของลมคอยผลักอยู่ ผู้สวมใส่จึงมีความปลอดภัยสูงกว่าการสวมหน้ากากอนามัย ร่วมกับ ชุด PPE

ปัจจุบันนี้สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ได้เปิดให้บริการในการสอบเทียบเครื่องมือวัดความดันหลายรูปแบบ ครอบคลุมตั้งแต่สุญญากาศในระดับมิลลิปาสคาลไปจนถึงความดันสูงระดับเมกะปาสคาล นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือมาตรฐานทุติยภูมิ และตติยภูมิทางด้านการวัดผลต่างความดัน ซึ่งสามารถนำไปสอบเทียบเครื่องมือมาตรฐานขั้นใช้งาน (Working Standard) ที่ใช้ในการทดสอบอุตสาหกรรมได้หลากหลายทั้งในด้านการบินและอวกาศ ยานยนต์ รวมทั้งการแพทย์ด้วย ซึ่งความแตกต่างของความดันนี้ มีความสำคัญในภาวะที่มีโรคระบาด โดยจะทำให้สามารถควบคุมเส้นทางการไหลของอากาศ เช่น ในห้องความดันบวก และลบ (Positive and Negative Pressure Room) และในหน้ากากช่วยหายใจความดันบวก หรือ Positive Pressure Powered Air Purifying Respirator (PAPR) เพื่อสร้างความมั่นใจและสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง

#กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม

 #MHESI

 


ย้อนกลับ