หน้าแรก > ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด > ทำนาวิธีใหม่ลดก๊าซโลกร้อน...ได้ทั้งข้าวทั้งพลังงาน
ทำนาวิธีใหม่ลดก๊าซโลกร้อน...ได้ทั้งข้าวทั้งพลังงาน 22 มกราคม 2556

ทำนาวิธีใหม่ลดก๊าซโลกร้อน...ได้ทั้งข้าวทั้งพลังงาน
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 5 ธันวาคม 2555 07:55 น.
       เมื่อ 3-4 ปีก่อนเคยมีการพูดถึงปัญหาการแย่งพื้นที่เพาะปลูกระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงาน ซึ่งต่างเป็นสิ่งจำเป็นทั้งคู่ และยังมีการพูดถึงการเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อนจากการปลูกข้าวแบบน้ำขังซึ่งให้ก๊าซมีเทนที่เป็นปัจจัยรุนแรงกว่าคาร์บอนหลายเท่า นักวิจัย มจธ.จึงทดลองปลูกข้าวสลับกับพืชพลังงาน ซึ่งนอกจากแก้ปัญหาการแย่งพื้นที่เพาะปลูกแล้ว ยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย
      
       รศ.ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เผยว่า พื้นที่ด้านหลัง มจธ.วิทยาเขตราชบุรีนั้นเป็นพื้นที่ข้าว ซึ่งนาข้าวของ จ.ราชบุรี เป็นระบบนาน้ำฝน ที่ปลูกข้าวได้ปีละ 4 เดือน ส่วนอีก 8 เดือนถูกปล่อยทิ้งร้าง ทีมวิจัยจึงพยายามใช้ช่วงที่พื้นที่ว่างจากการทำงานมาทดลองปลูกพืชพลังงาน เพื่อลดปัญหาการแข่งขันระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงาน
      
       ทีมวิจัยทดลองปลูกข้าวโพดและข้าวฟ่าง ซึ่งข้าวโพดนั้นนำไปผลิตก๊าซชีวภาพได้ ส่วนข้าวฟ่างนั้นนำไปผลิตเป็นเอทานอล และในการทดลองปลูกพืชพลังงานนั้นทีมวิจัยได้วัดการเก็บก๊าซคาร์บอนในดินและการปล่อยก๊าซคาร์บอนในนาข้าว โดยใช้อุปกรณ์พิเศษที่ออกแบบมาให้สามารถเก็บก๊าซจากนาข้าวไปวิเคราะห์หาปริมาณก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ซึ่งมีทั้งอุปกรณ์ที่ทำงานแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะเก็บตัวอย่างได้ทั้งวันทั้งคืนทุกๆ 1-2 ชั่วโมง และแบบควบคุมด้วยคนที่จะเก็บตัวอย่างในช่วงกลางวัน
      
       ผลจากการทดลองปลูกข้าวสลับกับพืชพลังงาน รศ.ดร.สิรินเทพ บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า พืชพลังงานช่วยลดก๊าซมีเทนในนาข้าวได้เนื่องจากไม่ต้องใช้น้ำขังเหมือนการทำนา นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดินให้เพิ่มมากขึ้น ช่วยให้ข้าวได้ผลผลิตมากขึ้น แต่อยากแนะนำให้ปลูกข้าวฟ่าง เพราะโตเร็ว ดูแลง่าย และหวานเหมาะแก่การผลิตเอทานอล
      
       ส่วนการเก็บคาร์บอนในดินนั้นยังต้องทดลองต่อไปอีก 3-4 ปี จึงจะบอกได้ โดยตอนนี้ทีมวิจัยได้ทดลองปลูกพืชพลังงานสลับการปลูกข้าวมา 3 ปีแล้ว รวมทั้งหมด 4 ครอป (ระบบการปลูก โดย 1 ปี ปลูกได้ 2 ระบบการปลูก) นอกจากนี้ยังต้องดูความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจว่าการปลูกพืชพลังงานและพืชอาหารเช่นนี้จะมีความคุ้มค่าหรือไม่

ขอขอบคุณ
ที่มาข้อมูลและภาพประกอบ
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000146874


ย้อนกลับ