หน้าแรก > ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด > หนุนผลิต “ชุดตรวจเอดส์ดื้อยา” ผลงานไทย
หนุนผลิต “ชุดตรวจเอดส์ดื้อยา” ผลงานไทย 22 มกราคม 2556

หนุนผลิต “ชุดตรวจเอดส์ดื้อยา” ผลงานไทย
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 ธันวาคม 2555 09:04 น.

การดื้อยาของเชื้อไวรัสเอชไอวีเป็นปัญหาต่อการรักษาผู้ป่วยเอดส์ เพราะหากใช้ยาที่เชื้อในร่างกายดื้อยาแล้ว ยาที่มีโครงสร้างคล้ายๆ กันก็จะถูกเชื้อดื้อยาไปด้วย การตรวจให้เจอว่าในร่างกายของผู้ป่วยมีเชื้อเอดส์ที่ดื้อยาหรือไม่นั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเริ่มต้นรักษา
      
       แม้ปัจจุบันเราจะมียาต้านไวรัสเอชไอวี (HIV) และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่การใช้ยาอย่างแพร่หลายก็ทำให้ไวรัสเกิดวิวัฒนาการและดื้อยาตามาเช่นกัน และทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเอชไอวีดื้อยาต้านไวรัส และมีข้อมูลว่าผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐฯ ที่ไม่เคยได้รับยาต้านไวรัสมาก่อน มีเชื้อไวรัสดื้อยาเพิ่มขึ้นถึงปีละ 20%
      
       ทั้งนี้ ในปี 2543 องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้รับรองยาต้านไวรัสเอชไอวีเพียง 14 ชนิดเท่านั้น และหากเชื้อเอชไอวีดื้อยาชนิดหนึ่งแล้ว ก็มีโอกาสที่จะดื้อยาชนิดอื่นๆ ที่มีโครงสร้างเคมีใกล้เคียงกันได้ ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคต่อการรักษา และทำให้ผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากขึ้น หรือที่สุดไม่มีตัวยาใดที่รักษาผู้ป่วยซึ่งได้รับเชื้อดื้อยาเลย
      
       จากเหตุผลข้างต้น นายวรินทร วิโรจนกูฎ ผู้จัดการโครงการชุดตรวจสอบการดื้อยาในผู้ป่วยโรคเอดส์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่า บริษัทผู้ผลิตยาต้านไวรัสทั้งหลายจึงสนับสนุนการพัฒนาและวิจัยการตรวจวินิจฉัยการดื้อยาต้านไวรัสเอชไอวี และในส่วนของ สนช.ได้ให้การสนับสนุน บริษัท แปซิฟิค ไบโอเทค จำกัด พัฒนาชุดตรวจ  PolGene และดำเนินการทดสอบชุดตรวจในโรงพยาบาล
      
       สำหรับการตรวจเชื้อเอชไอวีดื้อยามี 2 วิธีคือ วิธีตรวจการดื้อยาโดยตรงที่เรียกว่าการทดสอบฟีโนไทป์ (Phenotype testing) ซึ่งจะดูการยับยั้งการเพิ่มจำนวนเชื้อเอชไอวีในหลอดทดลอง หลังเติมยาต้านไวรัสเข้าไปยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัส แต่วิธีนี้มีค่าใช้จ่ายสูง มีความยุ่งยากซับซ้อน และใช้เวลานาน อีกทั้งต้องสร้างห้องปฏิบัติการปลอดเชื้อระดับสูงสุด เพื่อป้องกันเชื้อเอชไอวีจากหลอดทดลองแพร่กระจาย  
      
       ส่วนอีกวิธีที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบันเป็นวิธีตรวจการดื้อยาทางอ้อมที่เรียกว่า การทดสอบจีโนไทป์ (Genotype testing) ซึ่งจะทดสอบการกลายพันธุ์ของยีนที่ควบคุมการสร้างเอนไซม์โปรตีเอส (Protease) และเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตส (Reverse transcriptase) จากนั้นนำผลไปเชื่อมโยงกับข้อมูลการดื้อยา ซึ่งวิธีนี้มีราคาถูกและใช้เวลาน้อยกว่าการทดสอบฟีโนไทป์
      
       ชุดทดสอบที่ บริษัท แปซิฟิค ไบโอเทค ได้รับการสนับสนุนผ่านโครงการ “แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน” ด้วยทุนอุดหนุนกว่า 14 ล้านบาทนี้ ได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ นพ. เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม และคณะจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งศึกษามานานมากกว่า 10 ปี โดยขณะนี้อยู่ในขั้นทดสอบประสิทธิภาพชุดตรวจใน 3 ห้องปฏิบัติการ คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ห้องปฏิบัติการของบริษัท กรุงเทพ อาร์ไอเอ แล็บ จำกัด ซึ่งเป็นเครือบริษัทเดียวกับแปซิฟิคไบโอเทค

ขอขอบคุณ
ที่มาข้อมูลและภาพประกอบ
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000150078


ย้อนกลับ