หน้าแรก > ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด > เครื่องเก็บผลไม้อิเล็กทรอนิกส์
เครื่องเก็บผลไม้อิเล็กทรอนิกส์ 22 มกราคม 2556

เครื่องเก็บผลไม้อิเล็กทรอนิกส์
วันอังคารที่ 15 มกราคม 2556 เวลา 00:00 น.

    การปลูกผลไม้ เช่น มังคุด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และปริมาณที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เกษตรกรชาวสวนจำเป็นต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ได้มาตรฐาน
  
    ผศ.ดร.ศุภกิตต์ สายสุนทร อาจารย์ประจำภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย พร้อมทีมนักวิจัยประกอบด้วย ผศ.ดร.  สุดสายสิน แก้วเรือง นายกฤตภัทร คล้ายรัศมี และ นายขจรรัฐ ทองโย นิสิตปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีระบบเกษตร จึงร่วมประดิษฐ์คิดค้น “อุปกรณ์เก็บเกี่ยวและตรวจสอบความสุกแก่ของมังคุด” ที่ให้ความเที่ยงตรง แม่นยำ สามารถตรวจสอบความสุก แก่ ของผลมังคุดได้ โดยไม่ทำให้ผลมังคุดเกิดความเสียหายในขณะเก็บเกี่ยว เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการ และเกษตรกรชาวสวนมังคุด
       
    หัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวว่า อุปกรณ์ดังกล่าว ประกอบด้วย 1. ด้ามจับอุปกรณ์ 2. ฐานรองมือจับ 3. ชุดมือจับซ้าย-ขวา ซึ่งมีกลไกสามารถเคลื่อนที่บีบ-ปล่อยได้ และหมุนซ้าย-ขวาได้ ทำจากอะลูมิเนียมน้ำหนักเบา 4. เซอโวมอเตอร์ จำนวน 2 ตัว โดยตัวแรกใช้ควบคุมให้มือจับบีบ-ปล่อย และตัวที่สองใช้ควบคุมให้ชุดมือจับหมุนซ้าย-ขวา 5. เซ็นเซอร์ใช้แสง ใช้ควบคุมองศาการหมุนของชุดมือจับ 6. เซ็นเซอร์วัดค่าสี ใช้ตรวจสอบความสุกแก่ของผลไม้ 7. เซ็นเซอร์วัดแรง จำนวน 1 ตัว ติดตั้งไว้ที่ด้านในของมือจับ เพื่อควบคุมแรงบีบของมือจับไม่ให้ส่งผลต่อความเสียหายของผลไม้ที่เก็บเกี่ยว 8. จอยสติ๊กใช้ในการควบคุมการทำงานของเซอโวมอเตอร์  9. ไมโครคอนโทรลเลอร์ และ 10. แหล่งกำเนิดพลังงานใช้แบตเตอรี่ขนาด AA จำนวน 8 ก้อน การชาร์จไฟหนึ่งครั้ง อุปกรณ์สามารถทำงานได้ 3-4 ชม. เมื่อประกอบอุปกรณ์และชิ้นส่วนอื่น ๆ เข้าด้วยกันแล้ว จะมีขนาดเท่ากับ 0.15 x 0.15 x 1.5 เมตร โดยหลักการทำงานของอุปกรณ์เก็บเกี่ยวผลไม้จะแบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ  1. ระบบแมนนวล และ 2. ระบบกึ่งอัตโนมัติ         ระบบแมนนวล เมื่อเปิดสวิตช์ให้นำอุปกรณ์ไปไว้ในตำแหน่งที่จะเก็บเกี่ยวผลไม้ บังคับจอยสติ๊กให้มือจับบีบผลไม้ จากนั้นบังคับจอยสติ๊ก  เพื่อให้ชุดมือจับหมุนบิดไปในทิศทางที่ต้องการ เพื่อบิดให้ผลไม้หลุดออกจากขั้ว และบังคับให้มาอยู่ในตำแหน่งเดิม เป็นการเสร็จสิ้นขั้นตอนการทำงานในหนึ่งรอบ
  
    ส่วนระบบกึ่งอัตโนมัติ เมื่อเปิดสวิตช์เพื่อเลือกการทำงานแบบกึ่งอัตโนมัติ จากนั้นสอบเทียบ (Calibrate) เซ็นเซอร์วัดค่าสีกับสีของผลไม้ ซึ่งทำครั้งแรกเพียงครั้งเดียว เพื่อให้เซ็นเซอร์จดจำสีของผลไม้ได้ และนำอุปกรณ์ไปไว้ในตำแหน่งที่จะเก็บเกี่ยวผลไม้ เพื่อให้เซ็นเซอร์วัดค่าสีตรวจสอบค่าสีของผลไม้ เมื่อพบค่าสีถูกต้อง ได้ระยะสุกแก่  เซ็นเซอร์วัดค่าสีจะทำงาน (ในกรณีที่ค่าสีไม่ตรงตามค่าที่ตั้งไว้เซ็นเซอร์จะไม่ทำงาน)  และส่งสัญญาณให้มือจับทำการบีบจับผลไม้ โดยมีเซ็นเซอร์วัดแรง เป็นตัววัดแรงบีบ เมื่อมือจับบีบจับวัตถุได้ตามค่าแรงบีบที่ตั้งไว้ มือจับจะหยุดบีบทันที และหมุนไปเป็นมุม 75 องศา จากตำแหน่งเริ่มต้นเพื่อทำการบิดให้ผลไม้หลุดจากขั้ว   จากนั้นมือจับก็จะคายออกให้ผลไม้หล่นใส่ที่รองรับที่เตรียมไว้ แล้วก็จะหมุนกลับคืนสู่ตำแหน่งเดิม เป็นอันเสร็จสิ้นการทำงานในหนึ่งรอบกำลังการผลิตของเครื่อง สามารถเก็บเกี่ยวผลไม้ได้ประมาณ 180 - 210 ผล ต่อ 1 ชั่วโมง
  
    อุปกรณ์เก็บเกี่ยวผลไม้อิเล็กทรอนิกส์ นับเป็นการคิดค้นและสร้างนวัตกรรม เพื่อช่วยลดความเสียหายในขณะเก็บเกี่ยว และยังสามารถตรวจสอบความสุกแก่ของผลไม้ได้ผู้สนใจขอรับคำปรึกษาและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่  ผศ.ดร.ศุภกิตต์ สายสุนทร ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

บางเขน โทร. 0-2561–3482.

ที่มาข้อมูลและภาพประกอบ
http://www.dailynews.co.th/technology/178079


ย้อนกลับ