หน้าแรก > ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด > กลุ่มวิศวกรหวั่นโครงการน้ำ 3.4 แสนล้านกลายเป็นอนุสาวรีย์ความล้มเหลว
กลุ่มวิศวกรหวั่นโครงการน้ำ 3.4 แสนล้านกลายเป็นอนุสาวรีย์ความล้มเหลว 16 กุมภาพันธ์ 2556

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 14 กุมภาพันธ์ 2556 01:32 น.

       กลุ่มวิศวกรวิพากษ์โครงการน้ำ 3.4 แสนล้านบาทจะกลายเป็นอนุสาวรีย์ความล้มเหลว ไม่ต่างกรณีคลองด่าน ตอม่อโฮปเวลล์ หรือล่าสุดกรณีผู้รับเหมาทิ้งงานสร้างโรงพัก ชี้ข้ามหลายขั้นตอน ขาดคนขับเคลื่อนงาน และงานวิศวกรรมไม่เคยมีงานใดไร้ปัญหา แต่รูปแบบการใช้ต่างชาติรับเหมาก่อสร้างเสี่ยง "ติดกับดัก" จนไปต่อไม่ได้
      
       วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมชูปถัมภ์ (วสท.) จัดเวทีวิพากษ์โครงการน้ำ 3.4 แสนล้านบาทของรัฐบาล เมื่อ 13 ก.พ.56 ณ อาคารวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย โดยมีตัวแทนผู้เกี่ยวข้องในคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และวิศกรจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมวิพากษ์และชี้แจงโครงการดังกล่าว
      
       นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องจัดการวิพากษ์ ในครั้งนี้ เนื่องจากโครงการก่อสร้างใหญ่ๆ ที่ผ่านมา อาทิ โครงการทางยกระดับโฮปเวลล์ โครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน หรือล่าสุดโครงการสร้างโรงพักที่ผู้รับเหมาทิ้งงาน เป็นต้น ซึ่งต้องมาพิจารณาว่าความล้มเหลวนั้นเป็นเพราะเหตุใด
      
       ทั้งนี้ นายกวิศวกรรมสถานได้ตั้งข้อสังเกตในโครงการน้ำมูลค่า 3.4 แสนล้านบาทนั้นมีหลายประเด็นที่อาจทำให้โครงการไม่สำเร็จเช่นเดียวกับโครงการใหญ่อื่นๆ ที่ผ่านมา ซึ่งในฐานะวิชาชีพวิศวกรที่มุ่งผลสำเร็จเป็นหลัก และเห็นงานที่ล้มเหลวมามาก เห็นว่าโครงการนี้ข้ามมาหลายขั้นตอน อีกทั้งในงานวิศวกรรมไม่มีงานใดไม่มีปัญหาให้ต้องปรับปรุงแก้ไข บางงานต้องเข้าไปเจรจากับชุมชนในพื้นที่แต่ยังไม่มีการดำนเนินงาน ซึ่งมีโอกาสที่จะไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ เป็นต้น
      
       “มอบงบ 340,000 แสนล้านให้ไม่กี่บริษัท ซึ่งเชื่อว่าบริษัทที่ได้รับเหมาไป ไม่ได้ทำเองทั้งหมด จะต้องมีซับ-คอนแทร็ค และซับ-ซับคอนแทรคต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งจะเกิดการบริหารงานซับซ้อน หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียก “กินหัวคิว” จนปฏิบัติงานไม่ได้ เหมือนกรณี 396 โรงพักที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือเรียกอีกอย่างว่า “เสียค่านักเลง” และการให้หลายบริษัทมาทำงานร่วมกันโดยที่ไม่เคยร่วมงานกันมาก่อน แล้วมีบางงานเรียบร้อย แต่บางงานไม่เรียบร้อย แล้วจะเรียกร้องค่าเสียหายจากใคร” นายสุวัฒน์กล่าว
      
       นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตอีกหลายๆ ข้อจากผู้ร่วมสัมมนา อาทิ การตั้งคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้ามารับงานให้สูงเกินไป เหมือนจงใจกีดกันบริษัทของไทย หรือการไม่เคยสรุปปัญหาที่แท้จริงของสาเหตุอุทกภัยเมื่อปี 2554 หรือการทำสัญญากับผู้รับเหมาที่ให้ทั้งศึกษาความเป็นไปได้พร้อมกับสัญญาการก่อสร้างในฉบับเดียว ซึ่งเป็นรูปแบบสัญญาที่ไม่มีที่ใดในโลกทำ เป็นต้น
      
       ทางด้าน ดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ คณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้ร่วมวงวิพากษ์และชี้แจงถึงกรณีของการตั้งคุณสมบัติผู้รับเหมาโครงการน้ำของรัฐบาลให้สูง โดยเปรียบเทียบเหมือนประเทศไทยเป็นคนป่วยที่รักษากับหมกคนเดิมมาเป็นร้อยปี แต่อาการไม่ดีขึ้น ก็ถึงเวลาที่จะขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญของทีมแพทย์ใหม่ เพราะเราทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว เนื่องจากมีความเสียหายมาก โดยอุทกภัยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานั้นเสียหายไปถึง 1.4 ล้านล้านบาท
      
       พร้อมกันนี้ตัวแทนจาก กบอ.ยังชี้แจงอีกหลายข้อ อาทิ การคัดเลือก6 บริษัทในการรับเหมานี้ยังอยู่ในรอบคัดเลือก ซึ่งต้องมีการชิงกันอีกในรอบสุดท้าย ซึ่งจะนำกรอบแนวคิดที่ดีที่สุดมากำหนดเป็น TOR ใหม่ และถือว่าเป็นการเอาเปรียบกลุ่มบริษัทเหล่านี้อย่างมาก เพราะกรอบแนวคิดเหล่านั้นจะเป็นสมบัติของไทยทั้งหมด เช่น กรณีบริษัท ก.ตกการคัดเลือก แต่บางแนวคิดดีก็นำมาใช้ได้ เป็นต้น ทั้งนี้ เกณฑ์ที่จะใช้ในการตัดสินคือ เทคนิค เวลาและราคาในการดำเนินการ โดยกำหนดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 5 ปี และหากบริษัทใดจะทำซับ-คอนแทร็คต้องได้รับการอนุมัติของ กบอ. เสียก่อน
      
       ทางด้าน ดร.ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในการดำเนินโครงการที่มีมูลค่ามหาศาลนี้ ไม่มีใครที่มีประสบการณ์ใน “การขับเคลื่อนงาน” ใหญ่เลย และไม่มีใครรู้เรื่องน้ำ และยังมีการข้ามขั้นตอน 1, 2 กระโดดไปขั้นตอน 3 เลย พร้อมยกตัวอย่าง การอนุมัติให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ว่าเป็นการผิดรัฐธรรมนูญ แต่อนุมัติให้สร้างได้อย่างไร รวมถึงเขื่อนแก่งเสือเต้นที่นำมาปัดฝุ่นพูดถึงอยู่ซ้ำๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดไม่ได้เพราะผิดรัฐธรรมนูญ
      
       “รัฐบาลน่าจะศึกษาความเป็นไปได้การออกแบบการก่อสร้าง 8-10 โมดูลที่รัฐบาลกำหนดว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ การปล่อยให้บริษัทไปคิดกันเอาเองเป็นเรื่องใหญ่ แล้วจุดจบของเรื่องนี้จะเป็นเช่นไร คณะทำงานคิดหรือเปล่า รองนายกฯ คิดหรือเปล่า จะลุยๆ ไม่ได้ เดี๋ยวก็มีอนุสาวรีย์เหมือนโฮปเวลล์ และหากคิดย้อนหลังไปหน่อย ทุกรัฐบาลใช้ไม่ได้เลย เราต้องปฏิรูประบบคิดของรัฐบาล ประเทศล้มเหลวเพราะการบริหารจัดการของรัฐบาลที่เป็นผู้นำล้มเหลว” ส่วนหนึ่งของความเห็นของ ดร.ปราโมทย์ต่อการดำเนินโครงการน้ำของรัฐบาล
      
       นอกจากนี้ยังมีความเห็นอื่นๆ ต่อโครงการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท อาทิ เรื่องการจัดการป่าต้นน้ำ ซึ่งมีข้อเสนอของบริษัทในการปลูกป่าต้นน้ำ หากแต่ผู้ร่วมเวทีวิพากษ์ครั้งนี้ให้ความเห็นว่า ผู้เชี่ยวชาญเรื่องป่ามองตรงกันว่า การปลูกป่าไม่ได้ผล หากแต่การทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าจะได้ผลมากกว่า หรือการเสนอแนวคิดว่าแทนที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ตามโมดูลของรัฐบาล น่าจะเปลี่ยนมาทำ “แก้มลิงเคลื่อนที่” คือ การขุดคูคลอง เพื่อหน่วงน้ำให้อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือได้นานขึ้น แม้จะเก็บไม่ได้ แต่ก็ยังรักษาไว้ได้ส่วนหนึ่ง เป็นต้น   

ขอขอบคุณ
ที่มาข้อมูลและภาพประกอบ
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000018904


ย้อนกลับ