หน้าแรก > ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด > ตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ)
ตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) 22 มีนาคม 2556

ตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ)
ความหมาย

ตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) (อังกฤษ: Digital Object Identifier: DOI) เป็นตัวบ่งชี้ทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล หรือทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ หรือเอกสารดิจิทัล ทำหน้าที่เป็นรหัสทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล  คล้ายกับเลข ISBN หรือ ISSN แต่มีความแตกต่างที่ รหัสทรัพยากรสารสนเทศ หรือ DOI  มีความซับซ้อนมากกว่า โดยมีเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมโยงไฟล์ทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลจากรหัส DOI  ได้  มีการจัดการฐานข้อมูล metadata และการอ้างถึง แต่เลข ISBN และ ISSN ไม่สามารถทำได้ ซึ่งตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) นั้นเป็นตัวบ่งชี้ถาวรของทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล (Permanent Identifier) หรือ Persistent Identifier โดยรหัสนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานที่ที่ใช้จัดเก็บ (Location) หรือสิทธิการเป็นเจ้าของทรัพยากรสารสนเทศนั้น และปัจจุบันได้รับมาตรฐานสากล ISO 26324: 2012 Information and documentation แล้ว

DOI ยังเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนโดยมูลนิธิ DOI นานาชาติ (The International DOI Foundation: IDF)

ประวัติความเป็นมา

ตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ)  หรือ DOI เกิดจากความร่วมมือของสมาคมสำนักพิมพ์แห่งสหรัฐอเมริกาที่ต้องการมาตรฐานการให้รหัสของเอกสารดิจิทัล ร่วมกับองค์กรต่างๆ เช่น International Publishers Association; International Association of Scientific,Technical and Medical Publishers; Association of American Publishers โดยได้ก่อตั้งองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรเรียกว่า มูลนิธิ DOI เรียกว่าThe International DOI? Foundation (IDF) ในปี 1977

ต่อมา IDF ได้ทำงานร่วมกับองค์กร CNRI ( Corporation for National Research Initiatives) ในการพัฒนาระบบ Handle System เพื่อใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญทางเทคนิคของระบบ DOI

ในปีต่อมาคือ 1998-2000 IDF ร่วมกับ Indecs project ได้กำหนด Indecs framework เป็น Data model  องค์กรที่เป็น Registration Agency แห่งแรกเริ่มขึ้นในปี 2000 โดยการเชื่อมโยงบทความวารสารเรียกว่า CrossRef Registration Agency

ส่วน DOI syntax เป็นมาตรฐาน ISO ตาม A National Information Standards Organization (US) standard, ANSI/NISO Z39.84-2010 ต่อมาระบบ DOI ได้รับการรับรองเป็นมาตรฐานสากล  ISO 26324:2012 : Information and Documentation ในปี 2012

สำหรับประเทศไทย การนำตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) มาใช้งาน เริ่มมีการดำเนินการไปแล้ว โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สมัครสมาชิกเป็นผู้บริหารจัดการตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) ด้านการวิจัยของประเทศกับ DataCite ซึ่งเป็น Registration Agencies (RA) และได้รับการยอมรับจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของ DataCite ให้เป็นสมาชิกเต็มรูปแบบลำดับที่ 17 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มีหนังสือไปยังราชบัณฑิตยสถานเพื่อสอบถามศัพท์บัญญัติของ Digital Object Identifier (DOI) โดย ที่ประชุมคณะกรรมการการจัดทำพจนานุกรมศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของราชบัณฑิตยสถาน พิจารณามีมติให้บัญญัติศัพท์ว่า “ตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ)”

องค์กรที่เกี่ยวข้องกับ DOI

มูลนิธิดีโอไอนานาชาติ

มูลนิธิดีโอไอนานาชาติ หรือมูลนิธิไอดีเอฟ (International DOI Foundation: IDF) เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่พัฒนาและบริหารระบบตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ)  (DOI System) ตั้งขึ้นเมื่อปี 1998 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เพื่อสนับสนุนชุมชนที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในโลกดิจิทัลของการบริหารจัดการเนื้อหา มูลนิธิจึงเป็นองค์กรนานาชาติในเรื่องสมาชิกและกิจกรรม

มูลนิธิดีโอไอนานาชาติ หรือมูลนิธิไอดีเอฟ (International DOI Foundation: IDF) เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรที่บริหารงานโดยค่าธรรมเนียมจากสมาชิก ทำหน้าที่บริหารและประสานงานกับองค์กรรับจดทะเบียนรหัส DOI โดยมีองค์กรรับจดทะเบียน (Registration Agencies) เป็นสมาชิก ซึ่งมีกระบวนการตามมาตรฐานสากล และมีนโยบายและขั้นตอนตามความรับผิดชอบสำคัญ ดังนี้

  •     เพื่อสนับสนุนการใช้ระบบ DOI ที่เหมาะสมตามข้อกำหนดมาตรฐาน ISO 26324
  •     เพื่อใช้ระบบ DOI ตามโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิค และโครงสร้างข้อมูลตามความต้องการของผู้ใช้
  •     เพื่อจัดทำแนวทางปฏิบัติในการกำหนดรหัส DOI การลงทะเบียนและการบำรุงรักษา
  •     เพื่อปรับปรุงคู่มือและแนวปฏิบัติ DOI อย่างต่อเนื่องตามความต้องการของตลาด
  •     เพื่อตอบข้อซักถามต่อข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐาน 26324
  •     เพื่อสร้างขั้นตอนการประกันคุณภาพของระบบ DOI
  •     ประสานงานกับ ISO และมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับรหัส DOI


          โดยมูลนิธิดีโอไอนานาชาติ ได้แบ่งประเภทของสมาชิกไว้ ดังนี้

1.       General Members

2.       Registration Agencies (RA)

3.       Affiliates Members

4.       Charter Members

Registration Agencies (RA)

Registration Agencies (RA) หมายถึง องค์กรที่เป็นสมาชิกของมูลนิธิดีโอไอนานาชาติ (International DOI Foundation: IDF) ที่ให้บริการจดทะเบียนรหัส DOI  แก่องค์กรสมาชิก (Registrant หรือ Member Institution) ทำหน้าที่ให้ Prefix ของรหัส DOI หรือลงทะเบียนรหัสชื่อ DOI โดยใช้ระบบ DOI และกำหนดโครงสร้างข้อมูลที่อธิบายเมทาดาทาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่บริการข้อมูลแก่ Registrants ในการฝึกอบรม พัฒนาและการตลาดในแก่ชุมชนที่เกี่ยวข้อง  นอกจากนี้ RA ยังต้องทำข้อตกลงกับ IDF ในการจ่ายค่าธรรมเนียมแก่ IDF ด้วยกระบวนการที่มีคุณภาพ และเคารพสิทธิของ RA อื่น

องค์ประกอบของระบบ DOI

องค์ประกอบของระบบ DOI  ประกอบด้วยการทำงานของ 4 ส่วนหลักร่วมกัน ได้แก่

1. Numbering  Schema หรือ Syntax   โดยประกอบไปด้วยสองส่วน  คือ Prefix   และ Suffix

  •     Prefix คือ คำนำหน้าชื่อของตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ)  โดยทุกรหัสต้องขึ้นต้นด้วยหมายเลข 10 เสมอและถูกระบุตามลำดับที่ได้รับจากการสมัครสมาชิกกับ Registration Agencies (RA)
  •     Suffix คือ ส่วนที่สองของตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ)  ซึ่งใช้ระบุตัวตนของทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล โดยหน่วยงานที่เป็นสมาชิกเป็นผู้กำหนด หรือหน่วยงานที่ทำข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานที่เป็นสมาชิกเป็นผู้กำหนดภายใต้ข้อตกลงกับหน่วยงานที่เป็นสมาชิก หรือผู้ที่ลงทะเบียนขอรหัสเป็นผู้กำหนด และส่วน Suffix สามารถใช้งานร่วมกับเลขมาตรฐานสากลอื่นๆ เช่น ISBN หรือ ISSN ได้


ตัวอย่างตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ)

    10.200/1123.56.87
    10.3000/ISBN.974-572-862-8
    10.4000/ISSN.1953-8745
    10.5000/NRCT.2012.01.06.77895

2. Policies   โดยใช้ business model  ของแต่ละ registration agencies  

การกำหนดนโยบายและโมเดลทางธุรกิจนั้นอยู่กับรูปแบบและวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งแต่ละ Registration Agency  ของ DOI  เพื่อให้มีความสอดคล้องกัน  ยกตัวอย่างเช่น  CrossRef  เป็น RA ที่เน้นให้บริการของหมายเลข DOI  ทางด้านงานวิจัย  วารสาร  ดังนั้นนโยบายและโมเดลทางธุรกิจ จึงมุ่งเน้นทางด้านการให้บริการการค้นหาฐานข้อมูลงานวิจัย  มีระบบสนับสนุนทางด้านการซื้อขายเอกสารผลงานวิจัย

3. Internet Resolution

การทำ Resolution  เป็นขั้นตอนการป้อน DOI name เข้าสู่ระบบ DOI  และทำให้ได้ DOI  Resolution Record

4. Data Model เป็น Metadata Tool  ประกอบด้วย Data  Dictionary  และ Framework Data Model คือ โครงสร้างของข้อมูลที่ใช้อธิบาย และจัดการข้อมูล ความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล และข้อบังคับของข้อมูลในระบบมาตรฐาน ISO 26324 กล่าวว่าพจนานุกรมข้อมูล (Data  Dictionary) ที่ใช้เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลสำหรับองค์ประกอบทั้งหมดของข้อมูลและค่าอนุญาต (รายการซึ่งอาจจะใช้เป็นค่าของแต่ละองค์ประกอบ) ที่ใช้ใน DOI ข้อกำหนด metadata จะช่วยให้ความหมายภายในอภิปรัชญาขององค์ประกอบทั้งหมด metadata จะสามารถใช้ลงทะเบียนและให้วางแผนเพื่อสนับสนุนการรวมข้อมูลและการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูล


วัตถุประสงค์ของการกำหนดตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ)

วัตถุประสงค์ของการกำหนดตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ)  คือ เพื่อความเป็นเอกลักษณ์ของเอกสารดิจิทัล (uniqueness) มีการจัดการระบบโดยใช้ handle (resolution) มีการใช้งานร่วมกัน (interoperability) และความคงที่ของข้อมูล (P0ersistence) การกำหนดรหัสประจำของทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลจึงทำให้เกิดความสะดวกในการค้นคืนสารสนเทศ การสร้างระบบเชื่อมโยงสารสนเทศดิจิทัล การปรับสารสนเทศดิจิทัลเพื่อธุรกิจ เช่น การซื้อ ขาย การจัดเก็บ และเผยแพร่ทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลในระยะยาว โดยไม่เสียเวลาในการเปลี่ยนสถานที่จัดเก็บ และให้ความสะดวกในการรวบรวมทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ และการวิจัย โดยสามารถแยกรายละเอียดออกได้ดังนี้

1. ด้านการส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญา
องค์กรสามารถกำหนดตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) ให้กับทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีค่าขององค์กร โดยการกำหนดประเภทของทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลที่ต้องการจัดเก็บไว้เพื่อใช้ในระยะยาว เช่น หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ วารสารอิเล็กทรอนิกส์ รายงานการวิจัย รายงานประจำปี บทความและเอกสารที่เกี่ยวข้อง

2. ด้านการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) สามารถใช้ทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แก่สำนักพิมพ์ในการซื้อขายทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลตามมาตรฐานสากลในการเชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งเกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลนั้น ตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) จึงเป็นเครื่องมือสำคัญของสำนักพิมพ์ เสมือนเป็นรหัสสินค้าของเอกสารดิจิทัลนั้นที่มีระบบการค้าขายออนไลน์
3. ด้านการปกป้องลิขสิทธิ์และป้องกันการโจรกรรมข้อมูล
การจดทะเบียนตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ)  เป็นเสมือนการจดทะเบียนลิขสิทธิ์เอกสารหรือทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล เนื่องจากมีการลงรายการเมทาดาทา (metadata) ของเอกสารดิจิทัลนั้น ซึ่งมีรายละเอียดของชื่อผู้แต่ง/ผู้รับผิดชอบ ชื่อเรื่อง สำนักพิมพ์ ปีที่จัดพิมพ์และรายละเอียดทางบรรณานุกรมอื่นๆ ดังนั้นการที่เอกสารดิจิทัลมีรหัสประจำจึงช่วยให้เจ้าของทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลได้รับสิทธิ์การเป็นเจ้าของและสามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิความเป็นเจ้าของนั้น

4. ด้านความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล
การสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลและเครื่องมือช่วยค้น ไม่ว่าจะเป็นการค้นจากชื่อผู้เรียน ชื่อเรื่อง หัวเรื่อง หรือคำสำคัญ จะช่วยแสดงผลเป็นการโยงถึงตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) นั้น การมีรหัสประจำทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลจึงช่วยในการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งอาจเป็นการเข้าถึงวารสารอิเล็กทรอนิกส์ทั้งเล่ม หรือการเข้าถึงเฉพาะบางบทความที่มีการกำหนดตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) ของแต่ละบทความ หรือหนังสือของแต่ละบท เป็นต้น

5. ด้านมาตรฐานเปิด (open standard)
การใช้มาตรฐานเปิด (Open Standard) เพื่อการอ้างถึงสารสนเทศตามมาตรฐานสากล การจดทะเบียนตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) ช่วยให้ความสะดวกแก่ผู้ใช้ในการเขียนรายการบรรณานุกรมและการอ้างถึงทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลตามหลักมาตรฐานสากล ซึ่งทำให้ทราบจำนวนทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลในแต่ละสาขาและการเชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละชื่อเรื่องที่คล้ายคลึงกัน

ขอขอบคุณ
ที่มาข้อมูลและภาพประกอบ
http://www.nrct.go.th/th/DOI.aspx#.UUxy0Dfd6Sp


ย้อนกลับ