หน้าแรก > ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด > รู้จักเทคโนโลยี “พอกเมล็ดพันธุ์” ได้เมล็ดกลมโตสวยปลูกง่าย
รู้จักเทคโนโลยี “พอกเมล็ดพันธุ์” ได้เมล็ดกลมโตสวยปลูกง่าย 27 มีนาคม 2556

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 4 กุมภาพันธ์ 2556 16:11 น.

       เมล็ดพันธุ์ยาสูบหรือไม้ดอกเมืองหนาวหลายๆ ชนิดนั้นมีขนาดเล็กจิ๋ว ซึ่งเป็นอุปสรรค์อย่างหนึ่งในการเพาะปลูก แม้เกษตรกรจะมีเทคนิคนำไปผสมเถ้าแกลบหรือผสมในบัวรดน้ำแล้วราดไปบนแปลงเกษตร แต่เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นก็ยังมีโอกาสสูงที่จะเกาะและโตเบียดกันจนไม่แข็งแรง เทคโนโลยีการพอกเมล็ดพันธุ์เป็นอีกทางออกที่ช่วยให้การเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ขนาดเล็กทำได้สะดวกขึ้น
      
       ดร.บุญมี ศิริ จากภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เทคโนโลยีการพอกเมล็ดพันธุ์นั้น ช่วยให้เมล็ดพันธุ์มีขนาดเมล็ดสม่ำเสมอและได้ขนาดที่ต้องการ เหมาะแก่เมล็ดพันธุ์ขนาดเล็กมากๆ (ใกล้เคียงเศษผง) เช่น เมล็ดพันธุ์ยาสูบ เมล็ดพันธุ์เมืองหนาว เป็นต้น โดยจะพอกด้วยดิน ปูนหรือแคลเซียม แล้วผสมสารบางอย่างที่มีคุณสมบัติเหมือนกาว ทำให้เมล็ดพันธุ์มีขนาดใหญ่ขึ้น
      
       ในการพอกเมล็ดยังเพิ่มสารอาหารหรือปุ๋ยเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่ดีกว่าเดิม และยังเคลือบสารป้องกันโรคและแมลงได้ดีกว่าการเคลือบเมล็ดพันธุ์โดยตรง เนื่องจากจากเมล็ดพันธุ์มีโปรตีนเคลือบทำให้สารเคลือบเกาะผิวได้ยากกว่าเมล็ดพันธุ์ที่พอกให้ขนาดโตขึ้น และยังเพิ่มมูลค่าให้แก่เมล็ดพันธุ์ที่มีรูปร่างไม่สวยงามและเกษตรกรปฏิเสธการรับซื้อ แม้ว่าเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นจะให้ลักษณะพันธุ์ได้ครบถ้วนไม่ต่างจากเมล็ดพันธุ์ที่มีรูปร่างสวยงามก็ตาม
      
       ดร.บุญมีตัวอย่างประโยชน์ของการพอกเมล็ดพันธุ์ว่า ในกรณีของเมล็ดพันธุ์ยาสูบที่เล็กมากๆ นั้น เกษตรกรจะปลูกโดยผสมกับขี้เถ้าแกลบ ก่อนหว่านลงแปลง หรือผสมในบัวรดน้ำแล้วราดไปบนแปลง ซึ่งมีโอกาสที่เมล็ดพันธุ์จะยังคงเกาะกัน และงอกขึ้นมาเบียดกัน แย่งสารอาหารกันและไม่แข็งแรง จึงถูกโรคทำลายได้ง่าย แต่เมื่อพอกให้เมล็ดโตขึ้นแลว้สามารถนำไปเพาะในถาดเพาะก่อนนำไปปลูกได้ โดยเมล็ดพันธุ์ยาสูบที่พอกเมล็ดแล้วจะมีราคาที่กิโลกรัมละ 180,000 บาท แต่ราคาของเมล็ดที่ไม่พอกอยู่ที่กิโลกรัมละ 50,000 บาท
      
       สำหรับเมืองไทยเทคโนโลยีการพอกเมล็ดยังเป็นเรื่องใหม่ และนอกจาก มข.แล้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เป็นอีกสถาบันที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีการพอกเมล็ด ซึ่ง ดร.บุญมีกล่าวว่า การพอกเมล็ดพันธุ์ให้ขึ้นรูปตามต้องการไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เชื่อว่าในอนาคตจะมีเทคโนโลยีการพอกเมล็ดพันธุ์มากขึ้น
      
       นอกจากการพอกเมล็ดพันธุ์แล้ว ดร.บุญมียังพัฒนาเทคโนโลยีการเคลือบเมล็ดพันธุ์ ทั้งพัฒนาสารเคลือบเพื่อป้องกันโรคและแมลง และเครื่องเคลือบ โดยปกติเกษตรกรจะนำเมล็ดพันธุ์ลงไปคลุกกับสารเคมีป้องกันโรคและแมลง แต่วิธีดังกล่าวทำให้สารเคลือบติดไม่สม่ำเสมอ และเกษตรกรต้องสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง ขณะเดียวกันเครื่องเคลือบจากต่างประเทศยังมีราคาแพงตั้งแต่ 1.5 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรรายเล็กไม่มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี
      
       จากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีเคลือบเมล็ดพันธุ์ ดร.บุญมีจึงได้รับทุนวิจัยจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการเคลือบเมล็ดพันธุ์ และทำสำเร็จแล้ว โดยเขาได้พัฒนาเครื่องเคลือบที่มีราคาถูกกว่าต่างประเทศ 5 เท่า แต่ให้ประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน และพัฒนาสารเคลือบซึ่งเป็นตัวอย่างที่จะเชื่อมสารเคมีให้ติดเมล็ดพันธุ์อย่างสม่ำเสมอและได้จดสิทธิบัตรแล้ว
      
       ทั้งนี้ ดร.บุญมีได้จัดเทคโนโลยีการพอกเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งเทคโนโลยีการเคลือบเมล็ดพันธุ์ ภายในงานการประชุมคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์ ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระหว่างวันที่ 4-5 ก.พ.56 และมีตัวแทนทั้งจากภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 200 คน

ขอขอบคุณ
ที่มาข้อมูลและภาพประกอบ
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000014378


ย้อนกลับ