หน้าแรก > ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด > ยุทธพงศ์ ชูยุทธศาสตร์ยางดึงมาเลย์สร้าง รับเบอร์ซิตี้ บริดจ์สโตนทุ่ม1.5หมื่นล.ตั้งรง.ยางออฟโรด
ยุทธพงศ์ ชูยุทธศาสตร์ยางดึงมาเลย์สร้าง รับเบอร์ซิตี้ บริดจ์สโตนทุ่ม1.5หมื่นล.ตั้งรง.ยางออฟโรด 16 เมษายน 2556

วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2556 เวลา 07:08:59 น.

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้สัมภาษณ์ระหว่างประชุมงานยางพาราอาเชียนที่จ.ภูเก็ตว่า ในฐานะที่ประเทศไทย กำลังจะก้าวเข้าไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 2558 จึงมีความมุ่งมั่นที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางยางพาราของโลก หรือ Thailand : World Rubber Hub เพราะไทยมีวัตถุดิบมากที่สุดในโลก หรือส่งออกมากที่สุดเช่นเดียวกัน ที่พร้อมจะตอบสนองความต้องการของตลาดโลกได้เป็นอย่างดี และอาจจะกล่าวได้ว่า ประเทศไทย เป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกยางในรูปวัตถุดิบมากที่สุดในโลกตลอดระยะเวลา 20 ปี  หรือเฉลี่ยผลิตได้ปีละ 3.1-3.6 ล้านตัน  มีการส่งออกถึง 2.7-3.0 ล้านตัน หรือประมาณ 83-88 % โดยมีการใช้ภายในประเทศเพียง 12-14 % เท่านั้น  ส่วนที่เหลือเก็บสต็อคไว้ 7-9 %

นายยุทธพงศ์กล่าวว่า ไทยจะร่วมกับประเทศมาเลเซีย ร่วมกันผลักดันจัดตั้ง รับเบอร์ซิตี้ที่บริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดภาคเหนือของมาเลเซีย ตามดำริของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางไปเยือนมาเลเซีย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  และมีการลงนามความร่วมมือในการซื้อขายยางพารา 5 ราย ทั้งจากบริษัทของไต้หวัน ,นายชาว หยาง รองประธานเครือบริษัทรับเบอร์วัลเล่ย์ เมืองชิงเต่า สาธารณรัฐประชาชนจีนถือเป็นเครือบริษัทที่ได้รับการ สนับสนุนจากรัฐบาลจีนและสมาคมอุตสาหกรรมยางแห่งประเทศจีน,ผู้ซื้อจากมณฑลกวางตุ้ง,และรัฐวิสาหกิจจากเมืองฉงชิงและนครเซี่ยงไฮ้โดยมีบริษัทไทยฮั้วยางพาราจำกัด(มหาชน)มาร่วมด้วย

นอกจากนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังกล่าวถึงแนวทางรักษาเสถียรภาพยางพาราว่า 3 ประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ อาจพิจารณาต่ออายุมาตรการจำกัดปริมาณการส่งออกยางพาราร้อยละ 10 ออกไปอีก 6เดือน หลังจากสิ้นสุดมาตรการเมื่อ 31 มีนาคมที่ผ่านมานี้ เนื่องจากราคายางพารายังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่กิโลกรัมละ 120 บาท และเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวนี้จะไม่ส่งกระทบกระเทือนกับผู้ส่งออก เนื่องจากเป็นช่วงปิดกรีดยางพารา และมีปริมาณการส่งออกน้อย ทั้งนี้เชื่อว่าจะสามารถสรุปมาตรการในระหว่างการประชุมที่จังหวัดภูเก็ตได้ภายในวันที่ 12 เมษายนนี้

ส่วนทางด้านโครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพารา ที่ได้สิ้นสุดในช่วง 31 มีนาคมเช่นเดียวกันนั้นนายยุทธพงศ์กล่าวว่า รัฐบาลอาจจะพิจารณาต่ออายุมาตรการ หากราคายางพาราฤดูกาลใหม่อยู่ในระดับต่ำกว่า กิโลกรัมละ 80-90 บาท แต่จะปรับลดราคารับซื้อ ไม่ให้สูงเกินกว่าราคาตลาดมากนักจากเดิมรับซื้อยางพาราแผ่นดิบในราคา กิโลกรัมละ 100 บาท และยางแผ่นรมควันชั้น 3  กิโลกรัมละ104 บาท

ส่วนทันตแพทย์พงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต ผู้ประกอบการส่งออกยางแท่งชาวจังหวัดภูเก็ต และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทยกล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีว่าการสัมมนาที่จังหวัดภูเก็ตในครั้งนี้ รัฐบาลเปิดโอกาสให้ทั้งเกษตรกร ผู้แปรรูปยางและผู้ซื้อผู้ขายทั้งไทยและนานาชาติ มาร่วมพบปะ หารือกันอย่างเต็มที่ทำให้ทราบข้อเท็จจริง เพื่อสามารถคลี่คลาย หรือแก้ไขปัญหาและเป็นประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่ายเช่นทราบว่า ณ วันนี้ มีความแตกต่างกันทางด้านราคาของยางพาราไทยกับอินโดนีเซีย ที่ราคาแตกต่างกันมากถึง  10บาททีเดียว ซึ่งเป็นลักษณะของการแย่งกันขาย  เพราะว่าในวันแรกของการประชุมนี้ ปรากฏว่าทางตัวแทนรัฐวิสาหกิจและเอกชนจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและ ไต้หวัน ลงนามความร่วมมือซื้อยางพาราของไทยอย่างคึกคัก ในห้วงเวลา 1 ปีนี้ สูงถึง 800,000 ตัน

 ทันตแพทย์พงษ์ศักดิ์กล่าวอีกว่า บริษัทผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ของโลก คือประธานบริดจ์สโตน ที่มาร่วมงานประชุมครั้งนี้แจ้งว่าบริษัทบริดจ์สโตนขอประกาศลงทุนตั้งโรงงาน 15,000 ล้านบาทในประเทศไทย ที่ต้องการผลิตยางสำหรับรถออฟโรด( Off Road Tyre )ในขณะที่บริษัทผลิตยางรถยนต์ ล้อยางเครื่องบินและล้อยางชนิดพิเศษ ในยุโรปและอเมริกาประมาณ 5 บริษัท อาทิพิเรลลี่สนใจจะมาลงทุนสร้างโรงงานผลิตยางรถยนต์ชนิดพิเศษ และล้อยางเครื่องบินเช่นเดียวกัน และที่ประชุมมีการหยิบยกเรื่องการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน

ขอขอบคุณ
ที่มาข้อมูลและภาพประกอบ
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1365640208&grpid=00&catid=00


ย้อนกลับ