หน้าแรก > ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด > ผลวิจัย... กระบวนการสร้างความเป็นธรรมฯ ศึกษากรณีศูนย์ยะลาสันติสุข
ผลวิจัย... กระบวนการสร้างความเป็นธรรมฯ ศึกษากรณีศูนย์ยะลาสันติสุข 16 เมษายน 2556

วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2556 เวลา 16:20:12 น.
โดย กฤษฎา บุญราช

เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเป็นมายาวนานกว่า 200 ปี และมีความซับซ้อนของปัญหาที่เป็นมิติด้านประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ การเมือง การปกครอง ศาสนา รวมถึงวิถีชีวิตของประชาชน นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 เพื่อเป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่รัฐในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผลลัพธ์ปรากฏว่า จำนวนเหตุความไม่สงบลดลง แต่ในมิติการก่อความไม่สงบมีแนวโน้มคล้ายก่อการร้ายมากขึ้น ขณะที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็ยังไม่เปิดเผยองค์กรตนเองว่าเป็นใครและมีข้อเรียกร้องอะไรบ้าง ส่วนการจับกุมผู้ก่อความไม่สงบมาลงโทษตามกฎหมายก็ไม่บรรลุผลคดีความมั่นคงที่ขึ้นสู่ศาล เพราะศาลชั้นต้นยกฟ้องถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงยังมีคดีค้างการพิจารณาอยู่ในชั้นศาลจำนวนมาก ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้รับการประกันตัว เนื่องจากคดีความมั่นคงมีอัตราโทษสูง ทำให้ผู้ต้องหาถูกคุมขังเป็นเวลานาน

ทำให้ปัจจุบันรัฐบาลมีแนวคิดให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งมีมาตรา 21 ที่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความมั่นคงมามอบตัวต่อทางการแล้วจะได้รับการยกเว้นโทษไม่ถูกดำเนินคดีคล้ายๆ กับคำสั่ง 66/23 ที่ใช้กับการแก้ปัญหา ผกค.ในอดีตมาแล้ว แต่กฎหมายความมั่นคงดังกล่าวมีหลักการว่าจะใช้ได้ต้องมีการประกาศใช้เป็นพื้นที่ๆ ไปตามมติ ครม.

ปัจจุบันมีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวใน 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา (อ.เทพา, สะบ้าย้อย, นาทวี และ อ.จะนะ) และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เท่านั้น

ที่ผ่านมา จ.สงขลา มีผู้มามอบตัวตามมาตรา 21 จำนวน 4 คน ส่วนพื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ยังไม่มีใครมามอบตัว

หลังเหตุการณ์บุกโจมตีฐานนาวิกโยธินที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ก็เริ่มมีแนวคิดเรียกร้องให้มีการประกาศขยายใช้กฎหมายความมั่นคงดังกล่าวเพื่อให้ผู้หลงผิดมามอบตัวเพราะเป็นการแก้ไขปัญหาแบบสันติวิธี

อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวไม่อาจประกาศได้ง่ายๆ เพราะการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงต้องยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อำนาจพิเศษของเจ้าหน้าที่รัฐก็จะหมดไป ทำให้กังวลกันว่า เมื่อไม่มีกฎหมายพิเศษแล้วเจ้าหน้าที่จะคุมสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้หรือไม่

เรื่องนี้ในปี 2551-2553 ที่จังหวัดยะลา เคยมีกระบวนการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความมั่นคงมามอบตัวโดยไม่ต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษและไม่ต้องใช้มาตรา 21 แต่ใช้อำนาจผู้ว่าฯและผู้นำชุมชนผู้นำศาสนาเข้ามารับผิดชอบตามโครงการยะลาสันติสุข โดยจัดตั้งศูนย์ยะลาสันติสุข ซึ่งสามารถช่วยจำเลย&ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงได้แล้วกว่า 200 คน

ศูนย์ยะลาสันติสุข จัดตั้งโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ประกอบด้วย หน่วยงานด้านปกครอง ด้านความมั่นคง ด้านการพัฒนา และองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดช่องว่างปัญหาความไม่เป็นธรรมและอำนวยความเป็นธรรมให้ประชาชนที่ถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคง การดูแล

ผู้ด้อยโอกาสในสังคมที่ยังไม่มีหน่วยงานใดดูแลรับผิดชอบในระดับตำบล หมู่บ้าน ภายใต้การใช้กฎหมายพิเศษ 2 ฉบับ คือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 โดยน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน ?เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา? ซึ่งการดำเนินงานของศูนย์ตั้งอยู่สมมติฐานที่ว่า การสร้างความเป็นธรรมจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาความไม่สงบโดยสันติวิธี และเป็นการลดเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ และฟื้นฟูความไว้วางใจและความเชื่อมั่นระหว่างประชาชนกับรัฐ ตามทฤษฎีสันติยุติธรรม ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และยุติธรรมชุมชน

ในการให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงให้ได้รับการประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น จะมีผู้นำ 4 เสาหลัก คือ ผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชน ผู้นำศาสนา สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำตามธรรมชาติ จะเข้ามามีบทบาทตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ต้องหาเบื้องต้น ก่อนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะออกเอกสารรับรองเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบกับหลักทรัพย์ในการขอการประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลและพนักงานสอบสวน

จากผลการศึกษาวิจัยพบว่า ความไม่เป็นธรรมเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่สงบและความขัดแย้งขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการเพิ่มอำนาจรัฐตามกฎหมายพิเศษกลับส่งผลกระทบต่อประชาชนและสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการศูนย์ยะลาสันติสุขเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการใช้กฎหมายพิเศษ

การที่ผู้ต้องหาไม่ได้รับการประกันตัว การที่ศาลตัดสินยกฟ้องคดีถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ การพิจารณาคดีและการคุมขังผู้ต้องหาเป็นเวลานาน จึงดูเสมือนว่าขั้นตอนตามกฎหมายปฏิเสธความยุติธรรม ทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นตัวเร่งในการสร้างเงื่อนไขความไม่ไว้วางใจในสถานการณ์ที่ต้องจัดการกับความขัดแย้ง ทำให้สถานการณ์ความไม่สงบมีพัฒนาการของความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งการทำงานของศูนย์ยะลาสันติสุขมีทั้งช่วยเหลือผู้ต้องหาให้ได้รับสิทธิในการประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราว เปิดโอกาสให้ผู้หลบหนีหมายจับเข้ารายงานตัวแสดงความบริสุทธิ์ใจและมีเก็บหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์โดยมีผู้เข้ารายงานตัว 191 คน ได้รับการประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราว 161 คน มีการฝึกอบรมอาชีพ การสนับสนุนให้ศึกษาต่อ และการทำความเข้าใจในหลักศาสนาและประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ รวมถึงมีการเข้าไปดูแลกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในทางสังคมในจังหวัดยะลาถึง 4,000 ราย

ผลการศึกษายังพบอีกว่า การดำเนินงานของศูนย์ยะลาสันติสุขก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ด้านการรับรู้ของประชาชน โดยการสังเกตจากการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสำรวจความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมโครงการหรือผู้ได้รับการประกันตัว พบว่ามีความไว้วางใจต่อภาครัฐและเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นและสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหากเปรียบเทียบสถิติการก่อเหตุความไม่สงบ ตั้งแต่ปี 2547- 2554 กับพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส พบว่าจังหวัดยะลามีแนวโน้มของเหตุการณ์ความไม่สงบลดลงมากที่สุด รูปแบบการก่อเหตุความไม่สงบที่มีความน่ากลัวลดลงด้วย ประกอบกับมีแนวโน้มการย้ายภูมิลำเนาของประชาชนเข้ามาในจังหวัดยะลาเพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การลงทุน และนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น

การศึกษายังพบอีกว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนยังไม่เข้าใจแนวคิดเรื่องการแก้ไขปัญหาแบบสันติวิธี ศูนย์ยะลาสันติสุขเป็นเพียงหน่วยงานเฉพาะกิจไม่ได้มี

ฐานะเป็นหน่วยงานถาวร เมื่อเปลี่ยนแปลงผู้ว่าราชการจังหวัด ศูนย์อาจถูกยกเลิกหรือลดความสำคัญลง และการศึกษายังพบปัญหาอุปสรรคหากรัฐบาลใช้อำนาจตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในแห่งราชอาณาจักร ในขั้นตอนเริ่มต้นที่ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่สมัครใจมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ ต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากผู้บังคับการกองพันหรือเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ ซึ่งเคยเป็นคู่กรณีในการตรวจค้นและจับกุมบุคคลที่ต้องสงสัยว่ากระทำผิดกฎหมายความมั่นคงมาก่อน

ข้อเสนอแนะในผลการวิจัยครั้งนี้ รัฐต้องทบทวนความบกพร่องหรือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ซึ่งปัญหาความไม่ยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ดำเนินการบนพื้นฐานของกฎหมายพิเศษ ควรแยกดำเนินคดีความมั่นคงออกจากคดีอาญาทั่วไป เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และมีผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณาคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีพิเศษ สร้างกระบวนการยุติธรรมแบบคู่ขนานระหว่างฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายความมั่นคง อบรมผู้ปกครองท้องที่ให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักการของความยุติธรรมชุมชน และการดำเนินการตามมาตรา 21 ควรมอบหมายให้หน่วยงานฝ่ายพลเรือนเข้าไปมีบทบาทในการรับมอบตัวหรือรายงานตัวผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงแทนผู้บังคับหน่วยทหารในพื้นที่

การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นการแก้ไขปัญหาท่ามกลางประชาชนคนไทยด้วยกันที่มีประวัติศาสตร์ ความเป็นมา และอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากชนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างคนไทยกับอริราชศัตรูชาติอื่นใดหรือชนชาติอื่นแต่อย่างใด ดังนั้น การดำเนินยุทธศาสตร์ตามแนวทางสันติวิธีจึงเป็นหนทางที่ทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้สงบสุขและยั่งยืนคู่ชาติไทยตลอดไป

หน้า 7,มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 12 เมษายน 2556

ขอขอบคุณ
ที่มาข้อมูลและภาพประกอบ
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1365744115&grpid=03&catid=03


ย้อนกลับ