หน้าแรก > ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด > จุฬาฯผสมเทียมปะการังทนร้อนสำเร็จ
จุฬาฯผสมเทียมปะการังทนร้อนสำเร็จ 1 พฤษภาคม 2556

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 3 เมษายน 2556 06:01

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯเผยความสำเร็จ เพาะพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศ ทนต่ออุณหภูมิน้ำทะเลร้อนได้ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

นายวรณพ วิยกาญจน์ พร้อมด้วยนางสุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวความสำเร็จในโครงการการเพาะพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศ โดยดำเนินการทดลองมากว่า 5 ปี โดยสามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้และสามารถทนต่อน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงกว่าได้เป็นผลสำเร็จครั้งแรกในประเทศไทย

นายวรณพ กล่าวว่า โครงการการเพาะพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศ ได้ร่วมกับหลายองค์กร ได้แก่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ และ Akajima Marine Science Laboratory จังหวัดโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น โดนที่ผ่านมาจะพบว่าระบบนิเวศปะการังของประเทศไทยมีความเสื่อมโทรมมาก และยังขาดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับงานวิจัยด้านชีววิทยาของปะการัง ดังนั้น โครงการนี้ ถือเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อนำไปใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการฟื้นฟูแนวปะการัง และยังเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีด้วย

นายวรณพ กล่าวอีกว่าโครงการนี้ได้นำเอาปะการังจากหมู่เกาะแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มาทำการเพาะพันธุ์เป็นเวลากว่า 2 ปีก่อนนำกลับคืนถิ่น โดยทางนักวิจัยได้ลงไปสำรวจการเจริญเติบโตภายหลังจากนำปะการังที่เพาะพันธุ์จากการผสมเทียมได้ ก็พบว่าปะการังสามารถสืบพันธุ์ด้วยตัวเองได้ ซึ่งเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมายังสังเกตพบว่าเซลล์สืบพันธุ์มีการสร้างขึ้นอย่างชัดเจนจากตัวอ่อนของปะการังเขากวาง ซึ่งเป็นรุ่นที่อนุบาลในระบบเลี้ยงเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และหลังจากนำกลับคืนสู่ธรรมชาติบริเวณชายฝั่งทะเลเขาหมาจอ อ.สัตหีบยังพบว่าตัวอ่อนปะการังที่ได้จากการผสมเทียม สามารถสร้างปะการังรุ่นหลานได้ด้วยตัวเอง

ด้าน นางสุชนา กล่าวว่า ปะการังโดยทั่วไปจะมีการผสมพันธุ์แบอาศัยเพศเพียงปีละครั้ง และปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ออกมาผสมกันในมวลน้ำซึ่งเป็นหลักการที่นำมาใช้ในการวิจัยครั้งนี้ โดยวิธีการในการเพาะพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศ หรือผสมเทียมนั้น ทางนัวิจัยได้ทำการทดลองกับปะการังทั้งหมด 10 ชนิด แบ่งเป็น Acropora spp. 8 ชนิด Pocillopora damicornis และPlatygyra sinensis ซึ่งเป็นประเภท ปะการังกิ่งและปะการรังโต๊ะ โดยจะเริ่มทำการเก็บเซลไข่และสเปริ์ม ในช่วงเวลากลางคืน คือช่วงเวลา 19.00 - 21.00 น.จะเป็นช่วงที่ปะการังปล่อยไข่ออกมา จากนั้นนักวิจัยจะนำกระบอกเก็บเซลล์เปริ์ม หรือเซลล์สืบพันธุ์ และไข่ โดยสเปริ์มที่เก็บมาได้จะแยกตัวออกจากกันและสามารถผสมกับเซลล์ตัวอื่นได้ จากนั้นจะนำมาอยู่ในระบบเพาะฟัก ซึ่งระหว่างนี้จะเกิดการปฏิสนธิและเกิดพัฒนาการของไข่ปะการัง และจะนำกระเบื้องขนาดเล็ก เพื่อทำเป็นที่ยึดเกาะซึ่งปะการรังที่ได้เกาะบนพื้นผิดกระเบื้องจะค่อยๆเจริญเติบโตโดยปะการังจะอยู่ในช่วงของการอนุบาลเพาะฟักประมาณ 2 ปี จึงจะสามารถปล่อยลงสู่ธรรมชาติได้

ขอขอบคุณ
ที่มาข้อมูลและภาพประกอบ
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/life/20130403/498446/จุฬาฯผสมเทียมปะการังทนร้อนสำเร็จ.html


ย้อนกลับ