หน้าแรก > ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด > วิจัยพบแค่ลิ้มรสเบียร์ก็กระตุ้นให้อยากดื่มมากขึ้นอีก
วิจัยพบแค่ลิ้มรสเบียร์ก็กระตุ้นให้อยากดื่มมากขึ้นอีก 1 พฤษภาคม 2556

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 เมษายน 2556 08:45 น.

       เผยงานวิจัยพบ การลิ้มรสชาติเครื่องดื่มน้ำเมาเพียงเล็กน้อยก็เพิ่มความอยากในการดื่มมากขึ้น แม้ไม่มีฤทธิ์แอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยรสชาติเบียร์จะกระตุ้นให้สมองปล่อย “โดปามีน” สารเคมีที่ทำให้รู้สึกเป็นสุข
      
       งานวิจัยดังกล่าวทดสอบในผู้ชาย 49 คน และเผยแพร่ผลวิจัยลงวารสารนิวโรไซคอฟาร์มาโคโลจี (Neuropsychopharmacology) ซึ่งเผยให้เห็นผลกระทบใหญ่หลวงต่อผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นแอลกอฮอลิซึม โดยในรายงานของบีบีซีนิวส์ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญประหลาดใจในถ่ายทอดทางครอบครัวนี้ โดยผู้ชายที่เข้ารับการทดลอง ถูกนำตัวไปยังเครื่องสแกนสมองขณะที่มีการพ่นเครื่องดื่มชนิดๆ ต่างเพียงเล็กน้อยเข้าปากพวกเขา
      
       นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยอินเดียนา (Indiana University School of Medicine) สหรัฐฯ เปรียบเทียบผลการฉีดพ่นน้ำเปล่า เครื่องดื่มสำหรับผู้ออกกำลัง และเบียร์ที่ผู้เข้ารับการทดลองชื่นชอบ ผลที่ออกมาเผยว่ามีโดปามีน (dopamine) สารเคมีกระตุ้นสมองและทำให้รู้สึกเป็นสุขหลั่งออกมาหลังได้รับการกระตุ้นด้วยเบียร์ และผู้ชายเหล่านั้นกล่าวว่าอยากจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  
       ศ.เดวิด คาเรเกน (Prof.David Kareken) กล่าวว่า ทีมวิจัยเชื่อว่าการทดลองนี้เป็นการทดลองแรกในคนที่แสดงให้เห็นว่า เพียงรสชาติของเครื่องแอลกอฮอล์อย่างเดียวซึ่งไม่มีผลกระทบจากแอลกอฮอล์มาเกี่ยวข้อง ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดการปลดปล่อยโดปามีนในศูนย์กลางความรู้สึกเป็นสุขของสมอง เขาชี้อีกว่า ผลกระทบที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในผู้ชายที่มีประวัติครอบครัวติดเหล้ายังอาจได้รับปัจจัยเสี่ยงที่จะติดเหล้าเป็นสิ่งตกทอดตามมาด้วย
      
       อย่างไรก็ดี ทางด้าน ศ.ได สตีเฟนส์ (Prof.Dai Stephens) จากมหาวิทยาลัยซัสเซกส์ (University of Sussex) กล่าวว่า แม้การศึกษาเรื่องนี้จะเป็นงานวิจัยแรกที่สาธิตในคนถึงผลกระทบต่อสมองจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกนักเพราะเราทราบถึงเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้วจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง ซึ่งการให้ยาก็กระตุ้นให้มีการปลดปล่อยโดปามีน แต่ผลกระทบจากการถ่ายทอดทางสายเลือดก็เป็นเรื่องน่าแปลก และทำให้เกิดคำถามว่า ปัจจัยดังกล่าวจะเป็นสาเหตุไปสู่การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการใช้ยาแบบผิดๆ ด้วยหรือไม่
      
ขอขอบคุณ
ที่มาข้อมูลและภาพประกอบ
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000046323


ย้อนกลับ