หน้าแรก > ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด > ไฟเขียวตั้งกองทุนตั้งศูนย์พัฒนายานยนต์
ไฟเขียวตั้งกองทุนตั้งศูนย์พัฒนายานยนต์ 1 พฤษภาคม 2556

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 30 เมษายน 2556 00:09

กยอ.ไฟเขียวตั้งกองทุนเก็บค่าธรรมเนียมจากรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ประกอบสำเร็จ ดึงเงินตั้งศูนย์ทดสอบและวิจัยพัฒนายานยนต์

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มีนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบและวิจัยพัฒนายานยนต์และชิ้นส่วน ตามข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ เมื่อการประชุม กยอ.ในเดือน ต.ค. 2555 กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอของบประมาณสนับสนุนจาก กยอ.จำนวน 8,170.9 ล้านบาท โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วนคือ 1.การดำเนินการระหว่างปี 2556 - 2557 เป็นการจัดตั้งศูนย์ทดสอบและติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อรองรับข้อกำหนดมาตรฐานและคุณภาพอาเซียน (ASEAN Consultative Committee for standards and Quality, ACCSQ)โดยต้องการที่ดินขนาด 200 ไร่ ในบริเวณพื้นที่คลัสเอตร์อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนบริเวณ จ.ระยอง จ.ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยใช้งบประมาณในการดำเนินงานระยะที่ 1 วงเงิน 3,283.90 ล้านบาท และส่วนที่ 2.เป็นการดำเนินงานระหว่าง พ.ศ. 2557 - 2559 โดยเป็นการก่อสร้างสนามทดสอบเพื่อวิจัยและพัฒนายานยนต์ โดยมีความต้องการที่ดินขนาด 800 ไร่ โดยใช้งบประมาณในการดำเนินการระยะที่ 2 วงเงินทั้งสิ้น 4,887 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ภายหลังกระทรวงอุตสาหกรรมได้ปรับลดวเงินรวมของโครงการลงเล็กน้อยคงเหลือ 8,050.90 ล้านบาท พร้อมทั้งระบุถึงที่ตั้งโครงการฯที่เหมาะสมในระยะที่ 1 ซึ่งได้มีการศึกษาโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ อศรีราชา จ.ชลบุรีและ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง 2.นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา และ 3.นิคมอุตสาหกรรม เหมราช โครงการ 2 อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ส่วนพื้นที่โครงการในระยะที่ 2 ยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษาและรอความชัดเจน

ที่ประชุม กยอ.ได้มีการหารือกันถึงงบประมาณจำนวนกว่า 8,000 ล้านบาทเศษที่กระทรวงอุตสาหกรรมขอสนับสนุนจาก กยอ.โดยกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณให้ความเห็นว่าโครงการฯมีวงเงินลงทุนสูง ขณะที่กรอบการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 มีวงเงินที่จัดสรรให้ กยอ.เพียง 1 หมื่นล้านบาท หาก กยอ.จัดสรรเงินกู้ฯให้โครงการดังกล่าวทั้งหมด วงเงินอาจไม่เพียงพอสำหรับโครงการอื่นๆที่มีความจำเป็น จึงเห็นควรให้จัดสรรวงเงินเท่าที่จำเป็นและให้สอดคล้องกับระยยะเวลาในการดำเนินการ โดยมี 2 แนวทางในการจัดสรรเงินได้แก่ 1.การใช้งบประมาณลงทุนของกระทรวงอุตสาหกรรมตามแผนปฏิบัติการสำหรับยุทธศาสตร์ประเทศ ปีงบประมาณ 2556 - 2561 จำนวน 3283.90 ล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการในส่วนแรก สำหรับโครงการในส่วนที่ 2 การสร้างสนามทดสอบเพื่อวิจัยและพัฒนายานยนต์ให้มีการจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม

2.ทางเลือกที่ 2 การใช้งบประมาณลงทุนจากภาคเอกชนโดยการจัดตั้งเป็นกองทุนที่มีการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียม (Surcharge) จากรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ประกอบสำเร็จทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า นอกจากนี้ยังเรียกเก็บเงินย็บ,ฐ จากการตรวสอบมาตรฐานและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยเรียกเก็บเงินสำหรับการตรวจสอบมาตรฐาน การอนุรักษ์พลังงานสิ่งแวดล้อม และการกำจัดซากยานยนต์โดยอาศัยกฏระเบียบของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้ลดภาระด้านงบประมาณปรกติของภาครัฐลงได้ ขณะที่ในอนาคตรัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาใช้เงินกองทุนดังกล่าวเพื่อจัดตั้งหน่วยงานในการดูแลการกำจัดซากรถยนต์อย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ ที่ประชุม กยอ.ได้มีมติเห็นชอบการดำเนินงานในทางเลือกที่ 2 คือการตั้งกองทุนที่มีการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียม(Surcharge) จากรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ประกอบสำเร็จทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า รวมทั้งเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดตั้งองค์กรและกองทุนเพื่อทดสอบและพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ รวมทั้งให้ กยอ.นำเสนอผลการประชุมต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป

สำหรับหลักการและเหตุผลในการเสนอโครงการฯ กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ มีการผลิตและจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการขยายตัวต้องพัฒนาปัจจัยการผลิตและปัจจัยสนับสนุนต่างๆ โดยศูนย์ทดสอบยายนยนต์เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งด้านการทดสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทัดเทียมมาตรฐานนานาชาติ ตลอดจนต่อยอดองค์ความรู้และต่อยอดงานวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการฯนี้จะช่วยให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยานยนต์ที่มีมาตรฐานในระดับสากลเพื่อจำหน่ายไปทั่วโลก ช่วยลดภาระต้นทุนในการทดสอบของผู้ประกอบการที่มนปัจจุบันต้องไปใช้ศูนย์ทดสอบในต่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาใฟ้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศมีขีดความสามารถในการออกแบบในระดับสูงทำให้ช่วยยกระดับการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้าได้

"ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายย่อยต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบยังต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 300 ล้านบาท หรือประมาณ 1 แสนบาทต่อครั้ง โดยชิ้นส่วนที่เป็นอะไหล่และประดับยนต์อาจมีค่าใช้จ่ายอีกปีละ 100 - 200ล้านบาท ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย"

ขอขอบคุณ
ที่มาข้อมูลและภาพประกอบ
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/business/20130430/502972/ไฟเขียวตั้งกองทุนตั้งศูนย์พัฒนายานยนต์.html


ย้อนกลับ